​เงินกู้สามัญ

​เงินกู้สามัญ


  UploadImage
1. คุณสมบัติของผู้กู้ สมาชิกประสงค์จะกู้เงินสามัญต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
            1.  เป็นสมาชิกและชำระค่าหุ้นรายเดือนติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่าหกเดือน
            2.  ต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของจำนวนเงินกู้ 

2. วัตถุประสงค์เงินกู้ สหกรณ์อาจให้กู้เงินเพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
            2.1  เพื่อการอันจำเป็นหรือประโยชน์ด้านความสะดวกสบายของสมาชิกตามที่คณะกรรมการเงินกู้เห็นสมควร
            2.2  เพื่อลงทุนประกอบอาชีพเสริมเพิ่มรายได้
            2.3  เพื่อชำระหนี้สหกรณ์หรือชำระหนี้ภายนอกที่มีเอกสารหลักฐาน
            2.4  เพื่อซื้อทรัพย์สินที่ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์
            2.5  เพื่อการศึกษาของสมาชิกหรือของบุตรสมาชิก
            2.6  เพื่อการปรับปรุงต่อเติมหรือซ่อมแซมทรัพย์สินของสมาชิกหรือของบุพการี
            2.7  เพื่อชำระค่าเบี้ยประกันชีวิตและเบี้ยประกันภัยผู้ค้ำประกันกับบริษัทประกันที่สหกรณ์กำหนด
            2.8 เพื่อช่วยเหลือกรณีได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติ
            2.9 เพื่อสมาชิกตามโครงการที่สหกรณ์กำหนด

 3. งวดชำระหนี้ ให้ผู้กู้ชำระหนี้ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
            3.1 ผู้กู้ที่เป็นข้าราชการ ลูกจ้างหรือข้าราชการบำนาญ ลูกจ้างบำเหน็จรายเดือน ลูกจ้างนอกประจำการและเจ้าหน้าที่สหกรณ์ ส่งคืนเงินกู้ให้เสร็จสิ้นไม่เกิน 150 งวด ทั้งนี้รวมถึงเงินกู้สามัญเพื่อขำระหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกัน
             3.2  ผู้กู้ที่เป็นพนักงานราชการ เจ้าหน้าที่กองทุนพัฒนาสหกรณ์หรือเจ้าหน้าที่ณาปนกิจสงเคราะห์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ส่งคืนเงินกู้ให้เสร็จสิ้นภายในอายุสัญญาจ้างที่เหลือทั้งนี้สมาชิกอาจขอชำระแบบใดแบบหนึ่ง คือ
                          ก. แบบสหกรณ์ ส่งต้นเงินเท่ากันทุกงวดและดอกเบี้ยคิดจากต้นเงินแห่งหนี้คงเหลือแต่ละงวด
                          ข. แบบธนาคาร ส่งชำระเงินเท่ากันทุกงวดจนกว่าจะหมดหนี้ เงินที่ชำระหนี้จะหักส่วนหนึ่งเป็นดอกเบี้ยก่อนส่วนที่เหลือจึงนำไปหักต้นเงิน

4. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับเงินกู้แต่ละวัตถุประสงค์
             4.1 เงินกู้เพื่อการศึกษา เป็นเงินกู้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาของสมาชิกหรือบุตรของสมาชิก ในระดับการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงปริญญาเอก การอนุมัติเงินกู้เพื่อการศึกษา ให้คณะกรรมการเงินกู้พิจารณาหลักเกณฑ์ พิจารณาหลักเกณฑ์  ดังนี้
              สมาชิกผู้กู้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือแสดงให้เห็นว่าสมาชิกหรือบุตรของสมาชิกนั้นกำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาใดและมีเหตุอันจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อเป็นค่าการศึกษาในสถาบัน โดยให้กู้ได้ไม่เกิน 200,000 บาท
                หลักเกณฑ์อื่นให้เป็นไปตามประกาศของสหกรณ์
              4.2 เงินกู้สามัญเพื่อชำระเบี้ยประกัน  เป็นเงินกู้เพื่อจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตหรือค่าเบี้ยประกันภัยทุกประเภทให้กับบริษัทรับประกันที่สหกรณ์กำหนด พิจารณาหลักเกณฑ์ ดังนี้
                            4.2.1 ให้กู้ได้ไม่เกินจำนวนเงินค่าเบี้ยประกันที่ผู้กู้จะต้องชำระ
                            4.2.2 การเบิกเงินกู้ สมาชิกต้องทำหนังสือยินยอมให้สหกรณ์เบิกเงินกู้เพื่อชำระค่าเบี้ยประกันตามกำหนดเวลาที่สมาชิกต้องชำระเบี้ยประกัน
                            4.2.3 การส่งชำระหนี้ ไม่เกิน 12 งวด กรณีชำระค่าเบี้ยประกันเป็นรายปีหรือไม่เกิน 120 งวด กรณีชำระเบี้ยประกันครั้งเดียวได้รับความคุ้มครอง 10 ปี
                หลักเกณฑ์อื่นให้เป็นไปตามประกาศของสหกรณ์
              4.3 เงินกู้สามัญเพื่อช่วยเหลือกรณีได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติ เพื่อช่วยเหลือกรณีได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้
                            4.3.1 บ้านเรือนของสมาชิกหรือของบิดา มารดา คู่สมรส ที่สมาชิกอาศัยอยู่จริง ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติหรืออัคคีภัย และประสงค์ขอกู้เงินเพื่อนำไปซ่อมแซมบ้านเรือนและทรัพย์สิน หรือซื้อทรัพย์สินใหม่แทนที่เสียหาย ให้ยื่นคำขอกู้เงินสามัญพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณา
                            4.3.2 ให้กู้เพื่อช่วยเหลือกรณีได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติรายละไม่เกิน 300,000 บาท
                หลักเกณฑ์อื่นให้เป็นไปตามประกาศของสหกรณ์
              4.4 เงินกู้สามัญเพื่อชำระหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกัน 
                            4.4.1 สมาชิกที่เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ จะขอกู้เงินเพื่อชำระหนี้สหกรณ์แทนผู้กู้ได้นั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้กู้ถึงแก่กรรมหรือออกจากงานประจำ ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญา และผู้ค้ำประกันตกเป็นลูกหนี้
                           4.4.2 ชำระหนี้แทนลูกหนี้ตามคำพิพากษา
                            วงเงินกู้ตามจำนวนเงินที่สมาชิกต้องรับผิดชอบในฐานะผู้ค้ำประกันการชำระหนี้เงินกู้ เป็นไปตามความสามารถในการชำระหนี้ของสมาชิกและคณะกรรมการเงินกู้เห็นสมควร                                
                หลักเกณฑ์อื่นให้เป็นไปตามประกาศของสหกรณ์        
              4.5 เงินกู้สามัญเพื่อสมาชิกตามโครงการที่สหกรณ์กำหนด การกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่น ๆ ของเงินกู้สามัญเพื่อสมาชิกที่กำหนดให้เป็นโครงการของสหกรณ์ ให้เป็นไปตามประกาศของสหกรณ์ 
5. หลักประกัน สหกรณ์อาจกำหนดให้ผู้กู้ใช้หลักประกันเงินกู้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างก็ได้ ดังต่อไปนี้
               (1) บุคคลซึ่งเป็นสมาชิกค้ำประกัน
               (2) สิทธิการถอนเงินฝากที่มีอยู่กับสหกรณ์
               (3) กรมธรรม์ประกันชีวิตที่สหกรณ์เป็นผู้รับประโยชน์
               (4) อสังหาริมทรัพย์ที่ปลอดจำนอง
               5.1 บุคคลซึ่งเป็นสมาชิกค้ำประกัน ให้ค้ำประกันเฉพาะจำนวนเงินที่เหลือจากจำนวนเงินที่กู้ หักด้วยมูลค่าหุ้นที่มีอยู่ในเวลานั้น โดยในจำนวนเินกู้ที่ต้องค้ำประกันทุกจำนวน 6 แสนบาท สมาชิกผู้กู้ต้องจัดให้มีสมาชิกมาค้ำประกันเป็นหลักประกันเงินกู้อย่างน้อย 1 คน เศษที่เหลือจากการคำนวณทุก 6 แสนบาทให้จัดให้มีสมาชิกมาค้ำประกันเพิ่มอีก 1 คน
              สมาชิกผู้ค้ำประกันสามารถค้ำประกันสามาชิกผู้กู้ได้ไม่เกิน 5 คน โดยให้ค้ำประกันเงินกู้ได้ไม่เกินสัญญาละ 6 แสนบาท และให้ระบุจำนวนเงินที่ค้ำประกันไว้ในสัญญาค้ำประกัน
              สมาชิกที่เป็นพนักงานราชการหรือเจ้าหน้าที่กองทุนพัฒนาสหกรณ์หรือเจ้าหน้าที่ฌาปนกิจสงเคราะห์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ จะต้องมีสมาชิกที่เป็นข้าราชการค้ำประกันอย่างน้อย 1 คน หรือสมาชิกที่เป็นพนักงานราชการหรือเจ้าหน้าที่กองทุนพัฒนาสหกรณ์หรือเจ้าหน้าที่ฌาปนกิจสงเคราะห์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ค้ำประกันกันเอง จะต้องมีผู้ค้ำประกันเงินกู้ที่เป็นพนักงานราชการหรือเจ้าหน้าที่กองทุนพัฒนาสหกรณ์หรือเจ้าหน้าที่ฌาปนกิจสงเคราะห์ อย่างน้อย 3 คน
              สมาชิกที่เป็นพนักงานราชการหรือเจ้าหน้าที่กองพัฒนาสหกรณ์หรือเจ้าหน้าที่ณาปนกิจสงเคราะห์ ไม่สามารถค้ำประกันสมาชิกที่เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำหรือข้าราชการบำนาญหรือลูกจ้างบำเหน็จรายเดือน
               5.2  สิทธิการถอนเงินฝาก การใช้สิทธิเป็นหลักประกัน ให้ปฏิบัติดังนี้
                           5.2.1 ผู้กู้ต้องทำหนังสือสละสิทธิการถอนเงินฝากและหนังสือยินยอมให้สหกรณ์ถอนเงินฝากเพื่อชำระหนี้ของสมาชิกด้วย
                           5.2.2 ผู้กู้ต้องมอบสมุดเงินฝากนั้นไว้กับสหกรณ์
                            ระหว่างการใช้สิทธิเป็นหลักประกัน สหกรณ์ยังคงจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ฝากตลอดระยะเวลาที่ฝากไว้กับสหกรณ์และสหกรณ์อาจอนุญาตให้ถอนเงินฝากได้ แต่จำนวนเงินที่เหลือในสมุดเงินฝากต้องไม่น้อยกว่าหนี้ที่สมาชิกยังคงค้างชำระอยู่
               5.3 กรมธรรม์ การใช้กรมธรรม์เป็นหลักประกันให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
                           5.3.1 กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบกลุ่ม ต้องมีทุนประกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของจำนวนเงินกู้ที่หักด้วยค่าหุ้นและเงินสงเคราะห์ครอบครัวสมาชิกผู้ถึงแก่กรรม
                           5.3.2 กรมธรรม์ประกันชีวิตที่ผู้กู้มีอยู่ก่อนสหกรณ์อนุมัติเงินกู้และได้แก้ไขให้สหกรณ์เป็นผู้รับประโยชน์แล้ว โดยกรมธรรม์นั้นต้องมีวงเงินเอาประกันเต็มจำนวน
                           หลักประกันตาม 5.3.1 หรือ 5.3.2 ให้ใช้เป็นหลักประกันควบคู่ไปกับหนังสือค้ำประกัน แต่ถ้าในระเบียบกำหนดไว้ว่าเงินกู้ใดต้องใช้บุคคลค้ำประกันเกินกว่าหนึ่งคนให้ลดผู้ค้ำประกันลงหนึ่งคน
                            กรณีใช้กรมธรรม์เป็นหลักประกันไม่ว่าชนิดใด ประเภทใด ต้องระบุให้สหกรณ์เป็นผู้รับประโยชน์และมีกำหนดเวลารับประโยชน์ต่อเนื่องไปตลอดเวลาสัญญากู้
               5.4 อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นประกันเงินกู้ กรณีใช้อสังหาริมทรัพย์ปลอดจำนองเป็นหลักประกัน ต้องจดทะเบียนเป็นประกันครอบหนี้ที่มีอยู่ในเวลาจำนองและหนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากเป็นที่ดินและบ้านหรืออาคารชุดต้องให้บริษัทตามที่สหกรณ์กำหนดเป็นผู้ประเมินราคา โดยผู้กู้เป็นผู้จ่ายค่าบริการให้กับบริษัทผู้ประเมินราคาและผู้กู้ต้องทำประกันอัคคีภัยกับบริษัทประกันภัยที่สหกรณ์กำหนดในจำนวนเงินตามที่คณะกรรมการเงินกู้เห็นสมควร โดยระบุให้สหกรณ์เป็นผู้รับผลประโยชน์และต้องต่ออายุการเอาประกันจนกว่าจะชำระหนี้เงินกู้แล้วเสร็จตามสัญญา ผู้กู้เป็นผู้เสียเบี้ยประกันโดยให้สหกรณ์หักเอาจากเงินปันผล เงินเฉลี่ยคืน เงินฝากหรือเงินเดือนของสมาชิกผู้กู้ได้
                           5.4.1 การใช้อสังหาริมทรัพย์จำนองเป็นหลักประกันเงินกู้สามัญให้ใช้ราคาประเมินซึ่งบริษัทเป็นผู้ประเมินไว้ไม่เกิน 3 ปี
                           5.4.2 จำนวนเงินกู้ต้องไม่เกินร้อยละเก้าสิบของราคาประเมินมูลค่าอสังหาริมทรัพย์           
   
6. การตรวจสอบหลักประกัน
               6.1 ให้ผู้จัดการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ตรวจสอบการให้เงินกู้ทุกรายมีหลักประกันให้ถูกต้อง เมื่อเห็นว่าหลักประกันสำหรับเงินกู้รายใดเกิดบกพร่อง ผู้จัดการต้องแจ้งให้ผู้กู้จัดการแก้ไขให้ถูกต้องภายใน 30 วัน และรายงานให้คณะกรรมการดำเนินการทราบ
               6.2 สมาชิกผู้กู้เงินที่มีความจำเป็นอาจขอเปลี่ยนหลักประกันเงินกู้โดยทำหนังสือระบุเหตุผลความจำเป็นเสนอต่อคณะกรรมการเงินกู้ ให้คณะกรรมการเงินกู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติการขอเปลี่ยนหลักประกันเงินกู้

7. การทำแผนการชำระหนี้เงินกู้
               สมาชิกที่ยื่นคำขอกู้เงินกู้สามัญหรือเงินกู้พิเศษที่มีอายุ 48 ปีขึ้นไป ต้องทำแผนการชำระหนี้เงินกู้ ซึ่งจะต้องประมาณการเงินบำนาญหรือเงินบำเหน็จรายเดือนที่คาดว่าจะได้รับเมื่อเกษียณอายุราชการ โดยวงเงินที่ขอกู้เมื่อคำนวณงวดชำระหนี้รายเดือนแล้ว จะต้องมีเงินบำนาญหรือบำเหน็จรายเดือนคงเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ตลอดอายุสัญญา
                ในกรณีสมาชิกขอกู้เงินใช้เงินฝากที่มีเอกสารการฝากเงินในสหกรณ์เป็นหลักประกัน ไม่ต้องนำความตามวรรคหนึ่งมาใช้บังคับก็ได้

8. การรวมหนี้  สมาชิกอาจขอรวมหนี้เงินกู้สามัญได้ ถ้าส่งชำระหนี้เงินกู้สามัญสัญญาใดสัญญาหนึ่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหกงวด  ยกเว้นเงินกู้สามัญไม่เกินมูลค่าหุ้น
9. วงเงินกู้และจำนวนเงินชำระหนี้เงินกู้  
               9.1 วงเงินกู้ไม่เกิน 73 เท่าของเงินเดือนที่สมาชิกได้รับและไม่เกินวงเงินกู้สูงสุดที่สหกรณ์กำหนด
               สมาชิกที่เป็นพนักงานราชการ หรือ เจ้าหน้าที่กองทุนพัฒนาสหกรณ์ หรือ เจ้าหน้าที่ฌาปนกิจสงเคราะห์ ให้กู้เงินได้ไม่เกินร้อยละ 65 ของเงินเดือนคูณอายุสัญญาจ้างที่เหลือ (เดือน) แต่ไม่เกินห้าแสนบาท ทั้งนี้ โดยให้พิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ด้วย
               9.2 สมาชิกแต่ละรายจะมีหนี้เงินกู้เงินจากสหกรณ์รวมกันทุกประเภทในเวลาใดเวลาหนึ่งเกินกว่า 5 ล้านบาท ไม่ได้
               กรณีที่ผู้กู้มีอายุครบ 75 ปีแล้ว จะต้องมีเงินกู้คงเหลือไม่เกินร้อยละเก้าสิบของเงินค่าหุ้นที่สมาชิกมีอยู่รวมกับเงินสงเคราะห์ครอบครัวสมาชิกผู้ถึงแก่กรรม  หากประสงค์จะขอกู้เงินเกินกว่าเงินค่าหุ้นที่สมาชิกมีอยู่รวมกับเงินสงเคราะห์ครอบครัวสมาชิกผู้ถึงแก่กรรม ต้องเป็นผู้มีความสามารถในการชำระหนี้ และมีหลักทรัพย์จำนองเป็นประกัน
               9.3 จำนวนเงินชำระหนี้เงินกู้ สหกรณ์จะกำหนดให้สมาชิกชำระหนี้เงินกู้สามัญหรือเงินกู้พิเศษ หรือทั้งเงินกู้สามัญและเงินกู้พิเศษงวดหนึ่งเกินกว่าร้อยละ 65 ของเงินเดือนที่สมาชิกได้รับอยู่ ณ เวลานั้นไม่ได้ โดยไม่รวมยอดเงินชำระหนี้เงินกู้ฉุกเฉิน
                                   กรณีสมาชิกมีหลักฐานเป็นหนังสือแสดงให้เห็นว่ามีรายได้ประจำเหลือเพียงพอต่อการใช้จ่ายในครัวเรือนโดยไม่เดือดร้อน สหกรณ์อาจให้สมาชิกชำระหนี้งวดหนึ่งเกินกว่าร้อยละ 65 ของเงินเดือนที่สมาชิกได้รับก็ได้ แต่ห้ามมิให้นำเงินงวดชำระหนี้ที่เกินกว่าร้อยละ 65 ของเงินเดือนไปคำนวณเพื่อเพิ่มวงเงินกู้ให้สูงขึ้น